การลงทุน

ยกเลิก LTF แล้วลดหย่อนภาษียังไงต่อดี?

ยกเลิก LTF

LTF (Long Term equity Fund) หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว เป็นกองทุนรวมที่ผู้ซื้อสามารถนำรายการซื้อไปลดหย่อนภาษีได้ โดยการใช้ LTF เพื่อลดหย่อนภาษีจะถูกประกาศผ่านกฎกระทรวงมาเรื่อยจนถึงฉบับล่าสุดที่กำหนดให้สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ถึงปี 2562 หรืออีกนัยหนึ่งก็คือจะ ยกเลิก LTF ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไปนั่นเอง

 

ยกเลิก LTF จึงกลายเป็นอีกประเด็นที่ถูกพูดถึงบ่อยมากในหลายแง่มุม ทั้งในแง่มุมด้านตรง หรือผู้ที่ใช้ LTF ไปลดหย่อนภาษีเอง หรือในแง่มุมด้านอ้อม หรือนักลงทุนในตลาดหุ้นที่เคยมีแรงซื้อจาก LTF มาช่วยเสริมสภาพคล่อง

 

คำถามที่สำคัญ คือ หากยกเลิก LTF แล้ว เราควรลดหย่อนภาษียังไงต่อดี?

 

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะยกเลิกสิทธิ์การลดหย่อนภาษีโดยการซื้อ LTF แต่สิทธิ์การลดหย่อนภาษีโดยการซื้อ RMF (Retirement Mutual Fund) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพยังคงอยู่ ดังนั้น สำหรับคนที่ต้องการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุจริงๆ วางแผนระยะยาวจริงๆ การซื้อ RMF จะตอบโจทย์มาก เพราะนอกจากจะไม่ถูกยกเลิกสิทธิ์แล้ว ยังมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายมากกว่าหุ้นเพียงอย่างเดียวอีกด้วย

 

เนื่องจาก LTF มีระยะเวลาการถือครองสั้น อย่างข้อกำหนดล่าสุดคือ 7 ปีปฏิทิน ในขณะที่ RMF มีระยะเวลาการถือครองที่ยาวกว่า คือต้องถือจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และลงทุนจนครบ 5 ปีเต็ม ดังนั้น การซื้อกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษีคงจะทำแบบใช้เงินหมุนคือขายก้อนเก่ามาซื้อก้อนใหม่เพื่อลดหย่อนภาษีสูงสุดแบบเดิมอีกคงไม่ได้

 

คำแนะนำ คือ เราควรเปลี่ยนนิสัยจากการซื้อ LTF ที่มุ่งเน้นการลดหย่อนภาษีสูงสุด มาเป็นการซื้อ RMF ตามเงื่อนไขที่เราต้องการเกษียณแทน ปรกติเคยซื้อ LTF อยู่ 500,000 บาทเต็มที่ ก็อาจจะปรับลดลงมาตามสัดส่วนของการต้องการเกษียณจริง เช่น อาจจะลดเหลือการซื้อเพียงปีละ 100,000 บาท แต่วงเงินนี้คือวงเงินเย็นที่สามารถถือยาวได้จนเกษียณจริงๆ

 

สิ่งสำคัญที่เราต้องพึงระลึกเสมอ คือ สิทธิ์ลดหย่อนภาษีคือผลพลอยได้จากการลงทุนเท่านั้น เป้าหมายหลักของ LTF คือการลงทุน เป้าหมายหลักของ RMF คือการวางแผนเกษียณ เป้าหมายหลักของ LTF และ RMF ไม่ใช่ลดหย่อนภาษีเป็นหลักและให้เรื่องอื่นเป็นรอง

 

สิ่งที่ดูจะสมเหตุสมผลที่สุด คือ การมารื้อแผนการเงินของตนเองใหม่เสียหมด จัดการเขียนรายละเอียดทรัพย์สิน หนี้สิน ให้ถูกต้อง วางเป้าหมายอนาคตว่าเราจะมุ่งไปทางไหน ต้องการเครื่องมือในการลงทุนอะไรบ้างในการไปถึงจุดหมาย แล้วให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีเป็นเพียงเรื่องรองเท่านั้น

 

เช่น ต้องการป้องกันความเสี่ยง ซื้อประกันชีวิตประกันสุขภาพตามความเสี่ยงที่ต้องการป้องกัน ไม่ใช่ซื้อให้สูงที่สุดเท่าที่จะลดหย่อนภาษีได้

 

เช่น ต้องการลงทุนเพื่อการเกษียณ ซื้อ RMF โดยจัดสรรกระจายความเสี่ยงไปในกองทุนรวมสินทรัพย์ต่างๆ อย่างเหมาะสม ไม่ใช่ซื้อสูงที่สุดเท่าที่จะลดหย่อนภาษีได้

 

หากมีเงินส่วนเหลือที่ต้องการไปลงทุนเพิ่มเติม แต่ไม่ใช่เงินเย็นในระยะที่จะถือไปจนถึงเกษียณได้ ก็สามารถแบ่งไปลงทุนในกองทุนรวมธรรมดาได้แทน โดยไม่ต้องมุ่งเน้นเพียงแต่จะซื้อ LTF เพียงอย่างเดียว

 

LTF คือ การลงทุนที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนสภาพคล่องของตลาดหุ้น ดังนั้น วันหนึ่ง LTF ต้องถูกยกเลิกไปตามการเติบโตของตลาดหุ้นอยู่แล้ว เราในฐานะคนที่ลดหย่อนมาโดยภาษีโดย LTF มาโดยตลอดก็ควรจะมองว่าสิทธิประโยชน์ที่ผ่านมาเป็นกำไร วันหนึ่งจะไม่ได้ก็คือเท่าทุน ไม่ได้ขาดทุนหรือเสียสิทธิ์อะไรนัก

 

หากมัวหมกมุ่นแต่การจะลดหย่อนภาษี โดยไม่คิดถึงเป้าหมายการซื้อทรัพย์สินการลงทุนที่แท้จริงแล้ว สุดท้าย เราอาจจะได้กำไรภาษี แต่ขาดทุนจากการลงทุนจนเละเทะก็เป็นได้

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน