การลงทุน

ย้อนอดีต Motorola และการลงทุนในตำนานของ Philip Fisher

Philip Fisher

ย้อนอดีต Motorola และการลงทุนในตำนานของ Philip Fisher

 

หากพูดถึงการลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐาน สิ่งที่หลายคนชอบที่สุดยอดเหนือจากหุ้นราคาถูก กิจการมั่นคง หรือมูลค่าในอนาคตที่ยังไปได้อีกไกล ก็คือเรื่องของความสม่ำเสมอว่าอนาคตจะเป็นไปดั่งคาดหวัง ดังนั้น หากหุ้นหรือกลุ่มอุตสาหกรรมใดที่อนาคตมีความไม่แน่นอนสูง มันก็เป็นการลงทุนที่ยากโดยปริยาย

 

และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีความไม่แน่นอนสูงเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น เพราะเทคโนโลยีย่อมเปลี่ยนแปลงได้เสมอ การซื้อหุ้นแล้วลงทุนกับมันยาวๆ จึงแทบดูเป็นไปไม่ได้

 

แต่เชื่อหรือไม่ มีนักลงทุนคนหนึ่งเคยซื้อหุ้น Motorola ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมาตั้งแต่ปี 1955 และไม่ขายเลยแม้เขาจะจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม เขาคนนั้นคือ Philip Fisher (ฟิลลิป ฟิชเชอร์)

 

 

 

ฟิลลิป ฟิชเชอร์ ทุกคนรู้จักเขาในฐานะที่เป็นอาจารย์ของบัฟเฟตต์อีกคนหนึ่ง ว่ากันว่าหลักการของบัฟเฟตต์นั้นใช้แนวคิดของฟิชเชอร์ถึงกว่า 85% เลยทีเดียว ส่วนอีก 15% เป็นแนวคิดแบบเบนจามิน เกรแฮม

 

โดยแนวคิดหลักของฟิชเชอร์ก็คือ เขาไม่ได้เน้นการลงทุนในหุ้นที่ราคาถูก หุ้นตัวนั้นอาจมีราคาแพงก็ได้นะ แต่ถ้าในอนาคตธุรกิจมีโอกาสโต ราคานี้ก็ไม่แพงหากเทียบกับการเติบโตของมัน นี่คือแก่นการลงทุนของฟิชเชอร์ (ส่วนหลักการแบบเกรแฮม จะเน้นหาหุ้นราคาถูกมากและให้ความสำคัญกับงบการเงินเป็นหลัก)

 

แต่เหตุใดเขาจึงสนใจหุ้น Motorola ที่เป็นหุ้นเทคโนโลยี ?

 

ในช่วงปี 1955 Motorola โดดเด่นในฐานะบริษัทที่ผลิตวิทยุและโทรทัศน์ อีกทั้งรายได้และกำไรก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากรายได้ 23 ล้านเหรียญในปี 1946 มาเป็น 223 ล้านเหรียญในปี 1955 เพิ่มขึ้นเกือบสิบเท่า ส่วนกำไรสุทธิก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่แพ้กัน จาก 6 แสนเหรียญเป็น 8.5 ล้านเหรียญ เอาจริงๆ ถ้าวิเคราะห์จากงบเพียงเท่านี้ก็ถือว่ากินขาด มีสักกี่บริษัทกันที่รายได้และกำไรโตขึ้นสิบเท่าในช่วงเวลาสิบปี

 

ดังนั้น ราคาหุ้นที่ซื้อขายอยู่ในตลาดจึงไม่ได้ถูกหรือแพงมากนัก ราคาหุ้นเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 38-43 เหรียญ เมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้นที่ 4.39 เหรียญในปี 1955 หุ้นตัวนี้จึงมีค่า PE หรืออัตราส่วนราคาต่อกำไรประมาณสิบเท่า ที่บอกว่าไม่ถูกและไม่แพง เพราะถ้าเราเผื่อความไม่แน่นอนในธุรกิจเทคโนโลยีเข้าไปด้วย หากอนาคตข้างหน้า Motorola มีกำไรลดลง ค่า PE อาจสูงขึ้นจนทำให้หุ้นแพงหูฉี่

 

 

 

แต่สิ่งที่ฟิชเชอร์สนใจจริงๆ ไม่ใช่เฉพาะรายได้ กำไร หรือโทรทัศน์และวิทยุของบริษัท แต่เป็นแผนกใหม่ของ Motorola คือแผนกเกี่ยวกับการสื่อสารต่างหาก เพราะในช่วงนั้น Motorola เป็นธุรกิจแรกๆ ที่ทำให้อุปกรณ์การสื่อสารเป็นสิ่งที่พกพาได้ รวมถึงยังวางโครงข่ายการสื่อสารอีกด้วย (เสาสัญญาณ ศูนย์รับส่งข้อมูล ฯลฯ) ซึ่งแผนกนี้ใหญ่เกือบครึ่งของทั้งบริษัทเลยทีเดียว

 

นี่เองเป็นสิ่งที่ฟิชเชอร์มองว่ามันคืออนาคต นำไปสู่การเข้าซื้อหุ้น Motorola ในปี 1955 น่าเสียดายที่เราไม่มีข้อมูลว่าเขาซื้อในราคาเท่าไหร่และลงทุนเป็นเงินเท่าไหร่ แต่ถ้าอิงจากราคาหุ้นเพียงอย่างเดียว เขาน่าจะได้ผลตอบแทนที่ไม่ต่ำกว่า 50 เด้ง และกลายเป็นเจ้าของประโยคอมตะที่ว่า “ถ้าคุณเจอหุ้นที่ดี เวลาที่เหมาะสมในการถือคือ ตลอดไป”

 

 

 

ถ้าวิเคราะห์ดีๆ แล้ว แม้หุ้น Motorola จะเป็นอุตสาหกรรมที่ดูเปลี่ยนแปลงเร็วและไม่แน่นอน แต่ราคาหุ้น ณ จุดที่เขาซื้อก็อาจไม่ได้แพงเกินไปนักหากเทียบกับการเติบโตในอดีตของบริษัท และความเก่งกาจอีกอย่างของเขาคือการที่ถือหุ้นตัวนี้ได้ตลอดชีวิต เพราะเขาถือหุ้นตัวนี้ตั้งแต่ปี 1955 จนถึงปี 2004 ที่เขาล่วงลับไป อาจมีนักลงทุนมากมายที่เห็นอนาคตของ Motorola แต่คงมีไม่กี่คนในโลกที่ถือหุ้นได้นานเท่ากับเขา

 

บางครั้งสิ่งที่ยากในการลงทุนจึงอาจไม่ได้อยู่ที่เพียงการวิเคราะห์ แต่มันอาจอยู่ที่เราจะอดทนเป็นเจ้าของธุรกิจชั้นยอดได้นานแค่ไหนซะมากกว่า

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

เอกสารอ้างอิง
ถือหุ้นตลอดชีวิต เจาะแนวคิด ฟิลลิป ฟิชเชอร์ : investing.in.th
รายงานประจำปี Motorola 1955 : motorolasolutions.com
หนังสือ Philip A. Fisher Collected Works, Foreword by Ken Fisher : books.google.co.th

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน