การลงทุน

ผู้บริหารทุจริต ระเบิดเวลาที่ส่งผลต่อราคาหุ้นในสักวัน

ผู้บริหารทุจริต ระเบิดเวลาที่ส่งผลต่อราคาหุ้นในสักวัน

ผู้บริหารทุจริต ระเบิดเวลาที่ส่งผลต่อราคาหุ้นในสักวัน

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกของการลงทุนในตลาดหุ้น ข่าวสารนับเป็นตัวเร่งที่ช่วยให้ราคาหุ้นเคลื่อนไหวอยู่เสมอ โดยเฉพาะข่าวบางประเภท อย่างข่าวการทุจริตของผู้บริหาร ข่าวนี้อาจส่งผลกระทบรุนแรงจนทำให้นักลงทุนเสียความมั่นใจในบริษัทนั้นเป็นพิเศษ และเทขายหุ้นออกมาอย่างไม่รอช้า

 

แต่อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวนี้ไม่ได้เป็นเพียงปฏิกิริยาทางอารมณ์ แต่มีปัจจัยเชิงพื้นฐานการประเมินมูลค่าหุ้นที่นักลงทุนควรรู้เอาไว้ด้วย

 

โดยราคาหุ้นในเชิงพื้นฐานแล้วถูกประเมินผ่านสมการ Price = P/E (อัตราส่วนราคาต่อกำไร) x EPS (กำไรต่อหุ้น)

EPS (กำไรต่อหุ้น)
เมื่อผู้บริหารที่มีบทบาทสำคัญถูกกล่าวหาหรือถูกดำเนินคดี ความต่อเนื่องของธุรกิจอาจสะดุด โครงการสำคัญที่เขาเป็นหัวเรือใหญ่อาจล่าช้าหรือหยุดชะงัก สิ่งนี้เองส่งผลให้รายได้หรือแม้แต่กำไรชะลอตัวโดยตรง และแน่นอนครับ กำไรต่อหุ้นที่ลดลงเช่นนี้ กดดันราคาหุ้นในตลาดทันที

P/E (อัตราส่วนราคาต่อกำไร)
สำหรับตัวเลข P/E สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยตรง เมื่อข่าวทุจริตส่งผลให้บริษัทถูกมองว่าไม่มีศักยภาพเติบโตในอนาคต นักลงทุนอาจไม่ยอมให้มูลค่าของหุ้นในระดับ PE สูงเท่าเดิม การปรับลด PE จึงเกิดขึ้นตามมา ส่งผลให้ราคาหุ้นลงมาเช่นกัน

 

นอกจากนี้แล้วยังมีอีกมิติที่ต้องคิดเพิ่มเติมด้วย นั่นคือมิติแรงขายของนักลงทุนสถาบัน

อีกหนึ่งบุคคลที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้ เนื่องจากบุคคลนี้ถือว่าเป็นคนที่ถือหุ้นของบริษัทใดบริษัทหนึ่งมากที่สุด นั่นคือนักลงทุนสถาบัน โดยเฉพาะกองทุน การทุจริตจากผู้บริหารนี้ส่งผลต่อการถือหุ้นของกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่คำนึงถึง ESG (E = สิ่งแวดล้อม, S = สังคม และ G = ธรรมาภิบาล) ซึ่งมักจะขายหุ้นของบริษัทที่ไม่ผ่านเกณฑ์ในด้านธรรมาภิบาล หรือตัว G ทันที นอกจากนี้เองยังเสี่ยงถูกปลดออกจากดัชนีที่เกี่ยวข้อง อย่าง ดัชนี ESG เป็นต้น เนื่องจากนักลงทุนกลุ่มนี้มีเม็ดเงินและถือหุ้นในสัดส่วนที่สูงกว่านักลงทุนทั่วไป การขายเหล่านี้ส่งผลให้ราคาหุ้นร่วงลงได้อย่างไม่ต้องสงสัย

 

นอกจากปัจจัยในด้านตัวเลขแล้ว อย่างที่ทุกท่านน่าจะทราบดีว่าเรื่องนี้ส่งผลโดยตรงต่อภาพลักษณ์ของบริษัทด้วยครับ โดยเฉพาะในสายตาของลูกค้าและคู่ค้า โดยเฉพาะในยุคที่เกณฑ์ ESG ถูกใช้เป็นมาตรฐานสำคัญ หากบริษัทสูญเสียความน่าเชื่อถือในด้านธรรมาภิบาล (G) คะแนนประเมิน ESG จากบริษัทที่ให้บริการประเมินอย่าง S&P Global หรือแม้แต่ Morning Star ก็จะตกต่ำส่งผลต่อความสามารถในการดึงดูดนักลงทุนในระยะยาว รวมถึงการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ต่าง ๆ ด้วย

 

และในตอนนี้ ตลาดหุ้นไทยเองก็กำลังมีข่าวการทุจริตของคุณหมอบุญ วนาสิน ผู้ก่อตั้งบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) อยู่ด้วย ถึงแม้ว่าคุณหมอบุญจะถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วนที่น้อยลงกว่าแต่ก่อน จนอันดับผู้ถือหุ้นของคุณหมออยู่ที่อันดับ 17 ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 0.68% ของหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดที่สุด

 

ซึ่งคดีนี้อาจจะจบง่ายกว่านี้หากผู้ก่อเหตุมีเพียงแค่คุณหมอบุญเพียงคนเดียว แต่เรื่องราวกลับไม่ใช่อย่างนั้น เพราะตามเนื้อข่าวแล้วผู้ก่อเหตุการณ์ยักยอกทรัพย์ที่มีคุณหมอบุญเป็นหัวเรือนี้ มีผู้ร่วมก่อการรวมการกว่า 9 คน โดยหนึ่งในนั้นคือภรรยาของคุณจารุวรรณ วนาสิน ผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 14.22% ของหุ้นที่จดทะเบียน รวมถึงดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทอีกด้วย

 

โดยเม็ดเงินจากความเสียหายนี้เกิดจากการระดมทุนโดยการนำหุ้นของบริษัทไปค้ำประกันเงินกู้จากสถาบันการเงิน รวมถึงการใช้อำนาจของการเป็นผู้บริหารนำสินทรัพย์บางส่วนของบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป มาใช้ค้ำประกัน เพื่อนำเงินที่ได้นี้มาใช้เป็นการส่วนตัวอีกด้วย

 

ซึ่งแน่นอนผลกระทบจากการกระทำนี้ส่งผลโดยตรงต่อราคาหุ้นของบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยจากราคาปิดเมื่อต้นปีที่ 55.75 บาท ปัจจุบันที่เขียนบทความ (26 พ.ย. 67) ราคาหุ้นของบริษัทเหลืออยู่ที่ 17.9 บาท คิดเป็นการลดลงกว่า 67.89% จากราคาเมื่อต้นปีจากน้ำมือของคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ใช้อำนาจที่มีไปผิดวิธี

 

เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเรื่องนี้?

เชื่อว่าเรื่องราวการทุจริตของคุณหมอบุญ วนาสิน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรายอื่น ๆ จะไม่ใช่เหตุการณ์สุดท้ายที่เกิดกับสังคมไทยแน่ ๆ และการทุจริตของผู้บริหารไม่ใช่แค่ข่าวร้ายที่ทำให้อารมณ์ตลาดสั่นสะเทือน แต่ยังบั่นทอนรากฐานทางการเงินและความน่าเชื่อถือของบริษัทในเชิงกลไกอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

ในฐานะนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า การเข้าใจปัจจัยทั้ง EPS, PE และแรงขายเชิงโครงสร้างจากนักลงทุนสถาบันหรือบรรดา Smart Money จะช่วยให้นักลงทุนประเมินสถานการณ์ได้อย่างมีเหตุผล และไม่ใช้แต่ความรู้สึกตัดสินเพียงอย่างเดียว

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น การเลือกลงทุนในบริษัทที่มีธรรมาภิบาลดีตั้งแต่แรก ย่อมลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์เช่นนี้ได้อย่างแน่นอนครับ สำหรับนักลงทุน นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของกำไรขาดทุนในวันนี้ แต่ยังเป็นเรื่องของความยั่งยืนในระยะยาวที่เราต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

 

สุดท้ายนี้ ผมขออวยพรขอให้คุณหาบริษัทที่คุณถือลงทุนได้อย่างไม่ต้องกังวล เกิดความสงบในจิตใจครับ

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/thg/factsheet
https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1155161
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9670000112607

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน