NFT ทรัพย์สินแนวใหม่ที่ใครก็แทนไม่ได้
เมื่อปีที่ผ่านมาหลายคนคงได้ยินข่าวคราวการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital asset) อันโด่งดัง ไม่ว่าจะเป็นการออกมาประกาศประมูลขายประโยคแรกบนทวิตเตอร์ของ Jack Dorsey ผู้ก่อตั้ง Twitter ที่พิมพ์ไว้เมื่อปี ค.ศ.2006 ข้อความว่า “just setting up my twttr” ได้ในราคา 2.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 89.7 ล้านบาท หรือการซื้อขายภาพ Disaster Girl ภาพมีมเด็กผู้หญิงยืนยิ้มโดยมีฉากหลังเป็นบ้านที่กำลังไฟไหม้สุดฮิตบนโลกอินเตอร์เน็ต โดยขายได้ในราคา 4.9 แสนเหรียญสหรัฐ หรือราว ๆ 15.4 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแบบนี้นั้นเรียกกันว่า NFT และกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากบรรดานักสะสมและศิลปิน แน่นอนว่าอาจยังมีหลายคนที่กำลังสงสัยและตั้งคำถามว่าจริง ๆ แล้วเจ้า NFT นี่คืออะไร? แล้วการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแบบนี้มีกระบวนการอย่างไรกันนะ? บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับปรากฏการณ์การ Disrupt ครั้งใหญ่ของโลกดิจิทัลที่กำลังมาแรงสุด ๆ ในนาทีนี้กัน
NFT หรือ Non-Fungible Token แปลตรงตัวคือ เหรียญที่ไม่สามารถทดแทนกันได้ โดยแต่ละเหรียญจะมีลักษณะเฉพาะ ไม่สามารถเอาเหรียญอื่น ๆ มาชดเชยกันได้ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจาก Token ที่เรารู้จักกันดีอย่าง Bitcoin หรือ Ethereum ที่เป็นเหรียญประเภท Fungible Token คือทุก ๆ เหรียญเหมือนกันและสามารถทดแทนกันได้ โดยทั้ง NFT และ FT ต่างก็มีการรูปแบบการทำงานที่เหมือนกัน คือทำงานอยู่บนระบบ Blockchain จึงมีความโปร่งใสเพราะธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนระบบทุก ๆ คนสามารถที่จะตรวจสอบได้โดยไม่ต้องมีคนกลาง โดยปรกติแล้วการซื้อขายสิ่งต่าง ๆ ที่จับต้องได้บนโลกนี้นั้น ต่อให้ทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเลียนแบบ ก็ไม่มีทางเหมือนสิ่งที่เป็นต้นฉบับ (Original) ได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่เกิดการซื้อขายบนโลกออนไลน์โดยผลงานเหล่านี้นั้นอยู่ในรูปแบบดิจิทัล เช่น ไฟล์ภาพ ไฟล์เสียง หรือไฟล์วิดิโอ มักจะเกิดการทำซ้ำ ดัดแปลง และลอกเลียนแบบได้โดยง่าย การเข้ามาของ NFT จะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยเป็นการระบุว่าใครคือเจ้าของกรรมสิทธิ์ในผลงานชิ้นนั้น ๆ ลองยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่นข้อความทวีตแรกของ Jack Dorsey ไม่ว่าใครก็สามารถไป Capture หน้าจอแล้วก็มีทวิตอันแรกของโลกได้ แล้วอะไรล่ะที่จะบอกว่าคุณเป็นเจ้าของตัวจริง? ดังนั้นการแปลงข้อความทวิตอันนี้ให้กลายมาเป็น NFT แล้วขายให้กับคนที่ประมูลได้ก็จะเป็นการชี้ว่าคน ๆ นี้คือเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ได้ผลงานมาอย่างถูกต้อง เพราะต่อให้คุณไปก๊อปปี้ข้อความนี้มาแต่คุณดันไม่มี NFT จากเจ้าของตัวจริงก็เท่ากับว่าสิ่งที่คุณมีอยู่นั้นเป็นของปลอม ดังนั้น NFT จึงเปรียบเสมือนเป็นสัญญาการซื้อขายในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลนั่นเอง
NFT มีความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือเป็น Token ที่ไม่สามารถแบ่งขายได้ ผู้ซื้อต้องซื้อไปแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม ในขณะที่ Token อย่าง Bitcoin ยังสามารถแบ่งขายได้ โดยผู้ซื้ออาจจะซื้อเพียงแค่ 0.000001 Bitcoin ก็ได้ นอกจากนี้การทำซ้ำหรือดัดแปลง NFT ทำได้ยากมากเพราะต้องมีการเข้ารหัสที่ซับซ้อนบนระบบBlockchain ดังนั้นจุดนี้นี่เองที่ทำให้ NFT มีความเฉพาะตัว มีเพียงหนึ่งเดียวในโลกเท่านั้น หากใครได้เป็นเจ้าของก็จะเป็นเจ้าของในกรรมสิทธิ์นั้น ๆ เพียงผู้เดียว แต่แน่นอนว่าการซื้อขายกรรมสิทธิ์มักมาพร้อมกับสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing Agreement) ซึ่งจะเป็นข้อตกลงระหว่างผู้ผลิตผลงานกับผู้ที่ซื้อกรรมสิทธิ์ไปว่าจะมีสิทธิ์มากน้อยแค่ไหนในผลงานชิ้นนั้น ๆ เช่น อนุญาตให้ซื้อเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น หรือผลงานบางชิ้นสามารถซื้อแล้วนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ หรือนำไปขายต่อได้แต่ต้องหักส่วนแบ่งให้กับเจ้าของผลงานทุกครั้ง เป็นต้น ถือได้ว่า NFT กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ วงการ ไม่ว่าจะเป็นวงการเพลง ศิลปะ แฟชั่น เกมส์ โฆษณา หรือแม้แต่วงการอินฟลูเอนเซอร์ เพราะต่อจากนี้ไปไม่ว่าใคร ๆ ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานดิจิทัลก่อนจะนำไปวางขายบนแพลตฟอร์มซื้อขาย NFT (NFT Marketplace) กันได้อย่างอิสระ ถือว่า NFT เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการลงทุนในขณะนี้ที่น่าจับตามองไม่แพ้การลงทุนรูปแบบอื่น ๆ เลยจริง ๆ
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อ้างอิง
https://www.businessinsider.com/nft-meaning
https://www.economist.com/the-economist-explains/2021/10/12/what-is-an-nft
https://www.bbc.com/news/technology-56371912
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :