การลงทุน

BCH ถึงแม้สะดุดแต่จะไม่หยุดเติบโต

BCH

BCH หรือบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ถือเป็นอีกกิจการที่ผมชอบ ผมเลือกศึกษาเป็นอันดับต้น ๆ ของกลุ่มโรงพยาบาลเลยทีเดียว เนื่องจากผมเกิดที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในเครือ

 

บางกอกเชนฮอลปิทอลเป็นกิจการโรงพยาบาลลักษณะเครือข่าย มีโรงพยาบาลในเครือหลายโรง ได้แก่ โรงพยาบาลเวิร์ลเมดิคัลเซนเตอร์ จับลูกค้าระดับบน โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ จับระดับกลางบน และโรงพยาบาลการุณยเวช จับลูกค้าระดับกลางล่าง

 

ราคาหุ้นบีซีเอช เคยถูกซื้อขายอยู่แถว 14 บาท แต่ราคาก็ลงมาอย่างต่อเนื่องเพราะเหตุผลหลักคือบริษัทเปิดโรงพยาบาลเวิร์ลเมดิคัลเซนเตอร์ซึ่งจับลูกค้าระดับพรีเมี่ยม แต่ผลกำไรไม่เป็นไปตามคาด ทำให้ผลขาดทุนจากโรงพยาบาลใหม่กดดันผลกำไรจากกิจการเดิมทำให้ราคาหุ้นตกลงอย่างต่อเนื่องสอดรับกับกำไรสุทธิที่มีแนวโน้มลดต่ำลง

 

BCH

 

ผมเริ่มตามบริษัทนี้ด้วยสมมติฐานที่เรียบง่ายว่า หากวันหนึ่ง โรงพยาบาลเวิร์ลเมดิคัลเซนเตอร์สามารถทำกำไรได้ หุ้นก็มีโอกาสกลับไปที่ราคาเดิมแถว 14 บาท เพราะว่าฐานกำไรเดิมของบริษัทที่มาจากทั้งเกษมราษฎร์ และการุณยเวช ไม่ได้มีแนวโน้มลดลง แถมยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายสาขา รับลูกค้ามากขึ้น และปรับราคายาสูงขึ้นอีกต่างหาก

 

เพียงแต่ประเด็นสำคัญคือเวลาดังกล่าวตอบได้ยากว่าจะมาถึงเมื่อไหร่ ผมติดตามงบ BCH ทุกไตรมาสเพื่อรอสัญญาณการฟื้นตัวของบริษัทที่กำไรของบริษัทมีแนวโน้มจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง

 

ผมรออยู่ 3 ไตรมาสหรือกินเวลากว่า 9 เดือนจนกำไรของบริษัทเริ่มพลิกกลับมาเป็นขาขึ้น และผมตัดสินใจซื้อหุ้นนี้ที่ราคา 7 บาทได้ ผมยังจำความรู้สึกของการรองบมานาน 3 ไตรมาส จนวันหนึ่งตัดสินใจซื้อได้ วันนั้นผมคิดในใจว่า สุดท้ายก็ได้ซื้อสักที

 

หลังจากนั้น ผลประกอบการของบริษัทก็ดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนราคาหุ้นมาทำจุดสูงสุดที่ 17.3 บาท หรือคิดเป็นผลตอบแทน 147.14% (ในตอนที่เขียนบทความนี้ครั้งแรก) แต่หลังจากนั้น ราคาหุ้นก็ยังปรับตัวขึ้นสูงขึ้น ตามผลประกอบการที่ดีเป็นลำดับต่อไป

 

เล่าย้อนกลับไปอีกนิดว่า ในช่วงที่ตัดสินใจลงทุน ผมชอบหุ้นนี้และตัดสินใจลงทุนในหุ้นนี้เยอะเป็นพิเศษ เพราะผมได้ลองรวบรวมข้อมูลหุ้นโรงพยาบาลทุกตัว และนำข้อมูลอัตราส่วน PE และ EV/EBITDA มาเปรียบเทียบกันด้วย

 

หุ้นตัวอื่นในอุตสาหกรรมจะมีแนวโน้มเดียวกัน คือ ถ้า PE สูง EV/EBITDA ก็จะสูงด้วย ในขณะที่ ถ้า PE ต่ำ EV/EBITDA ก็จะต่ำด้วย แต่หุ้น BCH มีลักษณะคือ PE สูง แต่ EV/EBITDA ต่ำ แสดงถึงกำไรสุทธิที่ยังถูกบดบังด้วยค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่มาก

 

จำได้ว่าช่วงนั้น EV/EBITDA ของบางกอกเชนอยู่ประมาณ 20 เท่า เท่านั้น ถึงว่าค่า PE จะอยู่ที่ประมาณ 40 เท่า ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า EV/EBITDA ระดับเท่านี้ไม่แพงมาก สูงกว่าธุรกิจอาหารและโรงแรมเพียงนิดเดียว ทั้งที่พื้นฐานอุตสาหกรรมดูแข็งแกร่งมากกว่า

 

ปัจจัยตรงนี้ก็กลายมาเป็นข้อคิดอีกข้อหนึ่งของผมในการดูค่าเสื่อมราคาที่บดบังกำไรในการมองหาหุ้นในปัจจุบันด้วย

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน