หุ้น QH หรือบริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นหุ้นอสังหาริมทรัพย์ตัวหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนมาอย่างยาวนาน และความสนใจก็ยิ่งทวีคูณขึ้นไปอีกเมื่อวันหนึ่ง ชื่อของดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากรก็ได้ปรากฎอยู่ในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ จนทำให้เกิดคำถามกันมากมายว่าทำไมดร.ถึงเลือกหุ้นตัวนี้ ทั้งที่ที่จริง ดร.ดูจะไม่ค่อยชอบหุ้นพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เท่าไหร่ เพราะลักษณะกิจการที่จะต้องหาลูกค้ารายใหม่อยู่เสมอ
ด้วยผู้เขียนบทความมีโอกาสได้เข้าร่วมงานสัมมนาหนึ่งที่ดร.นิเวศน์เป็นวิทยากรและมีผู้สอบถามดร.นิเวศน์ถึงแนวคิดการลงทุนในหุ้นตัวนี้พอดี จึงหยิบนำเรื่องราวแนวคิดมาถ่ายทอด เพื่อที่นักลงทุนท่านอื่นอาจจะสามารถนำไปใช้ในไอเดียในการลงทุนได้
***บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อแสดงแนวคิดการลงทุนเท่านั้น ไม่สามารถใช้อ้างอิงในการตัดสินใจซื้อ ถือ หรือขายหลักทรัพย์ได้ ข้อมูลที่กล่าวเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต และไม่สามารถรับรองผลที่จะเกิดในอนาคต***
ดร.นิเวศน์เลือก QH เพราะมูลค่าที่ซ่อนอยู่
ดร.นิเวศน์ให้มุมมองว่าตนเองซื้อหุ้นตัวนี้ เพราะบริษัทมีสินทรัพย์แฝงคือเงินลงทุนในบริษัท HMPRO ที่บริษัทอยู่อยู่ถึง 2,613,023,098 หุ้น หรือเทียบเท่ากับ 19.87% ของบริษัท อย่างที่ทราบกันดีว่า HMPRO อยู่ในอุตสาหกรรมค้าปลีกที่ตลาดให้มูลค่าค่อนข้างสูง อัตราส่วน PE สูงเกิน 20 มาเป็นเวลายาวนาน ต่างกับหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่นอกจากซื้อขายกันที่ PE ไม่ค่อยจะเกิน 10 แถมยังมีปันผลที่ค่อนข้างสูงอีกด้วย
เปรียบเทียบข้อมูล ณ สิ้นวันที่ 20 เมษายน 2561
หุ้นคิวเฮ้าส์ราคา 3.08 บาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 33,000.30 ล้านบาท
หุ้น HMPRO ราคา 15.00 บาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 197,267.97 ล้านบาท
(อ่านเรื่อง HMPRO เพิ่มเติม : HMPRO vs GLOBAL)
คิวเฮ้าส์ถือ HMPRO อยู่ 2,613,023,098 หุ้น หรือเทียบเท่ากับ 39,195,346,470 ล้านบาท หรือนั่นหมายความว่าแค่มูลค่า HMPRO ตามราคาตลาดก็มากกว่าราคาตอนนี้ของคิวเฮ้าส์ทั้งบริษัทแล้ว การลงทุนจึงเหมือนกับซื้อ HMPRO ผ่านคิวเฮ้าส์และยังได้กิจการอื่นในเครือทั้งหมดฟรี ตั้งแต่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร ไปจนถึงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทถือ
แน่นอนว่าการลงทุนแบบนี้มีความเสี่ยงที่บริษัทแม่จะไม่ปลดปล่อยมูลค่าออกมา แต่ดร.ก็ให้ความเห็นว่าตนเองเลือกซื้อกิจการเพื่อลงทุนในระยะยาว ไม่ใช่เพื่อเก็งกำไรในระยะสั้น ดังนั้นดร.จึงให้ความสำคัญไปที่กำไรและการซื้อหุ้นได้ที่ราคาถูกมากกว่า
ดร.ยังทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า “ใครไม่เห็นแต่ผมเห็นก็พอ”
กรณีศึกษาดังกล่าวนอกจากให้มุมมองเรื่องการลงทุนในหุ้นแบบสินทรัพย์แฝงหรือ asset play แล้วยังให้มุมมองของการคิดแบบเป็นอิสระและไม่สนใจแนวคิดของคนส่วนใหญ่ของตลาดหรือคำพูดของนักลงทุนคนอื่นด้วย
ส่วนตัวมองว่ากรณีศึกษานี้น่าสนใจในการศึกษามากทีเดียว
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :