Sunk Cost Fallacy หรืออคติต้นทุนจม เป็นอคติหรือปัญหาทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่นักลงทุนประสบกันมาก ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ตัว แต่นักลงทุนทุกคนก็มักจะต้องพบเจอปัญหาต้นทุนจมมาบ้างไม่มากก็น้อย
อคติต้นทุนจม คือ อคติทางจิตวิทยาที่คนสนใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตและนำมาชี้นำการตัดสินใจในอนาคต ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ในอดีตนั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับการเหตุการณ์ในอนาคตเลย
ในปี 1985 นักวิจัย Hal Arkes และ Catehrine Blumer ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ โดยได้ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองจินตนาการว่าตนเองได้ตัดสินใจซื้อตั๋วสำหรับเล่นสกีไปที่แรกในราคา 100 เหรียญ ต่อมาได้ไปเจอตั๋วสกีอีกที่หนึ่งที่คุณภาพดีกว่าที่แรกจึงตัดสินใจซื้อไปอีกในราคา 50 เหรียญ ปรากฎว่าหลังจากนั้นเพิ่งมาพบว่าตั๋วทั้ง 2 ใบมีช่วงเวลาที่ชนกัน ตั๋วไม่สามารถขอคืนเงินหรือขายต่อได้ ผู้เข้าร่วมงานวิจัยจำเป็นต้องเลือกไปแค่ที่เดียว คำถามคือคนส่วนใหญ่จะเลือกไปที่ไหน
หากคิดด้วยหลักเหตุผล คนควรเลือกที่จะไปสกีแห่งที่สองเพราะคุณภาพดีกว่า แต่คนเกินกว่าครึ่งในการทดลองนั้นกลับตัดสินใจไปสกีที่แรกเพราะราคาตั๋วที่จ่ายไปแล้วแพงกว่า !
หากคิดอย่างแท้จริงแล้ว ต้นทุนของค่าสกีที่จ่ายไปแล้วถือเป็นต้นทุนจม เพราะไม่ส่งผลอะไรในอนาคตอีกต่อไป ไม่ว่าเราจะเลือกไปสกีแห่งไหน เราก็ไม่ได้เงินคืนมาอีกแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ควรใช้เป็นหลักในการตัดสินใจควรจะเป็นคุณภาพของการเล่นสกีมากกว่า แต่คนจำนวนมากกลับยึดติกับต้นทุนในอดีตมากกว่า ถึงแม้ว่ามันจะไม่มีผลต่อเหตุการณ์ในอนาคตเลยก็ตาม
Sunk Cost เองก็มีผลต่อการลงทุนเช่นกัน
หากเราซื้อหุ้นตัวหนึ่งมาในราคา 100 บาทต่อหุ้น ต่อมาหุ้นตกมาเหลือ 50 บาทต่อหุ้น เราประเมินมูลค่าแล้วว่าหุ้นดังกล่าวมีมูลค่าเหลือเพียง 60 บาทเท่านั้น ต่อมาเราไปเจอหุ้นตัวใหม่ ราคาตลาดอยู่ที่ 100 บาทต่อหุ้น แต่มูลค่าพื้นฐานตอนนี้อยู่ที่ 150 บาท ถ้าคิดด้วยหลักเหตุผล เราควรขายตัวเก่ามาซื้อตัวใหม่ เพราะตัวเก่ามีผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ 20% ต่ำกว่าหุ้นตัวใหม่ที่คาดว่าจะได้รับผลตอบแทน 50%
แต่คนส่วนใหญ่มักทำไม่ได้
เพราะคนจำนวนมากยึดติดกับต้นทุนในอดีตและกลัวว่าการตัดสินใจขายคือการยอมรับการขาดทุน ทั้งที่ความจริงต้นทุนในอดีตไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลย เพราะไม่ว่าเราจะซื้อหุ้นมาที่ราคาเท่าไหร่ เราก็ต้องขายในราคาตลาดอยู่ดี เพราะชีวิตจริงแล้วไม่มีใครมาสนใจหรอกว่าเราซื้อหุ้นมาที่ราคาเท่าไหร่ สิ่งที่คนสนใจคือตอนนี้ราคาหุ้นคือเท่าไหร่ และแนวโน้มในอนาคตจะไปเป็นเท่าไหร่มากกว่า
ราคาหุ้นในพอร์ตตอนนี้จึงไม่ต่างกับค่าตั๋วสกีของ Arkes กับ Catehrine ที่จ่ายไปเรียบร้อยแล้ว เพราะไม่ว่าเราจะจ่ายเงินไปเท่าไหร่ เราก็เรียกเอาต้นทุนคืนมาไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ดังนั้น สิ่งสำคัญที่เราต้องคิดกลับกลายเป็นปัจจัยในปัจจุบันและอนาคตมากกว่า
การเป็นอิสระจากราคาในอดีตถือเป็นการสอบครั้งสำคัญอีกขั้นหนึ่งของชีวิตนักลงทุนเลย เพราะนักลงทุนทุกคนย่อมผิดพลาดเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ถ้าผ่านไปไม่ได้ก็ยากที่จะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในระยะยาว
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :