ความสำเร็จในการลงทุนคงเป็นสิ่งที่นักลงทุนทุกคนปรารถนา หลายคนรู้ว่าการไปถึงจุดมุ่งหมายต้องขยัน ต้องอดทน ต้องมานะพยายาม แต่จนแล้วจนรอดก็ตกม้าตายให้กับความขี้เกียจทุกที เส้นทางสู่การลงทุนที่ประสบความสำเร็จ เป็นสิ่งที่เราออกแบบได้ไหม เราสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นได้หรือเปล่า นี่คือคำถามที่ผมคิดตลอดมา
จนผมได้มาอ่านโพสของพี่ชัชพล (เพจ Chatchapol Book) ผู้แต่งหนังสือ 500 ล้านปีแห่งความรัก ที่อธิบายวิธีการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนไว้อย่างน่าสนใจ ผมจึงลองนำมาประยุกต์กับเส้นทางการลงทุนบ้าง ใครอยากอ่านวิธีคิดแบบเต็มๆ ต้นฉบับ เรียนเชิญที่เฟสบุ๊คต้นทางได้เลย
เส้นทางสู่การลงทุนที่ประสบความสำเร็จ
1 มีเป้าหมายที่ SMART
เป้าหมายที่ SMART ไม่ได้หมายถึงเป้าหมายที่ฉลาด แต่หมายถึงเป้าหมายที่ specific (จำเพาะเจาะจง) measurable (ตรวจวัดได้) Attainable (ทำให้เป็นจริงได้) Relevant (มีความหมายกับชีวิต) และ Time Bound (ระบุเวลาชัดเจน)
เช่น วิเคราะห์หุ้นสัปดาห์ละ 3 ตัว, อ่านหนังสือหุ้นสัปดาห์ละ 1 เล่ม เป็นต้น
สังเกตว่าเป้าหมายในการลงทุนควรมุ่งเน้นไปที่เหตุ ไม่ใช่ผล คือมุ่งไปในสิ่งที่ควบคุมได้ เช่น อ่านหนังสือหุ้น หาความรู้หุ้น วิเคราะห์หุ้น แต่ไม่ใช่ไปตั้งเป้าหมายที่ผลตอบแทนเป็นหลัก เพราะนั่นคือผลจากการกระทำที่มีปัจจัยหลายอย่างมาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะทำให้เราควบคุมมันไม่ได้
2 มี internal motivation
2.1 ทำความเข้าใจว่าเป้าหมายสำคัญกับชีวิตอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง
ตรงนี้เราควรทำความเข้าใจกับตัวเองก่อนว่าเราจะประสบความสำเร็จในการลงทุนไปทำไม การลงทุนจะเปลี่ยนชีวิตเราอย่างไร และถ้าเราทำไม่ได้จะส่งผลเสียอะไรบ้าง โดยพยายามเชื่อมโยงไปจนถึงสิ่งที่เราต้องการจริงเข้าใจจริง เช่น ลงทุนเพื่อให้รวยอาจจะไม่ใช่เป้าหมาย แต่อาจจะเป็นลงทุนเพื่อให้มีเงินพอที่จะลาออกไปทำตามความฝัน แบบนี้อาจจะกระตุ้นความตั้งใจของเราได้มากกว่า
2.2 เพิ่มความมั่นใจว่า เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้
เราต้องลองมานั่งวิเคราะห์กับตัวเองว่าเรามีความมั่นใจกับเป้าหมายที่คิดจะทำมากแค่ไหน อาจลองให้เป็นสเกล 1 – 10 แล้วลองปรับดูว่าทำไมเราถึงให้มากให้น้อยอย่างไร ลองวิเคราะห์ตัวเองว่าเราต้องปรับอย่างไรถึงจะทำให้สเกลตรงนี้สูงขึ้น แล้วก็ลองปรับดู เช่น ถ้าไม่มั่นใจเพราะเป้าหมายยากไป อาจจะปรับเป้าให้เหมาะสมมากขึ้น แล้วค่อยปรับความยากไปตามลำดับ
3 มีทักษะที่จะทำให้เราอึด
หัวข้อตรงนี้พูดถึงการใช้แรงใจหรือ willpower ให้เหมาะสมกับเป้าหมาย คือเราต้องพยายามบริหารจัดการแรงใจของเราให้เหมาะสมเพื่อจะไปถึงเป้าหมายได้สำเร็จ โดยสรุปวิธีการตามทฤษฎีมาให้ตามนี้ เราอาจลองไปปรับใช้ตามความเหมาะสมกับตัวเอง
3.1 ฝึกสมาธิ เช่น นั่งสมาธิ สวดมนต์ ทำงานศิลปะ (อะไรก็ได้ให้จิตใจจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานาน)
3.2 ฝึกความอดทน เพราะความอดทนกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะทำให้ความอดทนรวมดียิ่งขึ้น เช่น ตื่นนอนเข้านอนให้เป็นเวลา
3.3 ออกกำลังกาย
3.4 ทำสิ่งที่ต้องทำตอนแบตเต็ม โดยอาจจัดตารางให้ทำสิ่งที่ยากและท้าทายในเวลาที่ร่างกายสดชื่น
3.5 อย่าพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองหลายเรื่องพร้อมๆ กัน
3.6 ทำเรื่องที่ “ต้องทำแต่ยาก” ให้ง่าย และทำเรื่องที่ “ไม่ควรทำแต่ง่าย” ให้ยาก เช่น วางหนังสือการลงทุนไว้หัวเตียง แต่เอาโทรศัพท์มือถือไปวางไว้นอกห้อง (เวลาจะเล่นต้องเดินไปหยิบ เราจะขี้เกียจเล่นมากขึ้น)
3.7 ฝึกหายใจเข้าออกช้าๆ ตอนกำลังจะเลิกล้มความตั้งใจ (หายใจเข้า 5 วินาที หายใจออก 7 วินาที) เช่น ตอนเลิกจะอ่านหุ้นแล้วหนีไปดูซีรีย์ก็ให้หายใจเข้าออกช้าๆ (และทบทวนอีกที)
3.8 ฝึกทำสิ่งที่ไม่ถนัดบ้าง เพราะการทำสิ่งที่ไม่ถนัดเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันจะทำให้ willpower โดยรวมสูงขึ้น เช่น ฝึกนั่งหลังตรงตอนพิมพ์คอม ฝึกเขียนหนังสือด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด
3.9 หนีไปจากสิ่งเร้า เช่น รู้ว่าใจอ่อนต่อโซเชียลมีเดียง่ายก็เอาโทรศัพท์ไปไว้ไกลๆ
4 มีแผนการที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย
มีการวางแผนการชัดเจนว่าจะไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร เช่น เป้าหมายคืออ่านหนังสือสัปดาห์ละ 1 เล่ม ก็อาจจะจัดตารางเลยว่าอ่านตอนกี่โมง อ่านวันละกี่หน้า และต้องมีการปรับแผนให้เหมาะสมอยู่ตลอด เช่น ถ้าวางแผนจะอ่านวันนี้แต่ไม่ได้อ่าน จะอ่านชดเชยอย่างไรให้ทัน คือต้องมีแผนการไปสู่เป้าหมายให้ชัดเจนด้วย ไม่ใช่จะสักแต่ตั้งเป้าหมายอย่างเดียว
5 จัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้ออำนวย
5.1 เวลา
จัดเวลากิจวัตรในเส้นทางการลงทุนให้ชัดเจน เช่น อ่านหนังสือหุ้นก่อนนอน เรียนหุ้นวันเสาร์ วิเคราะห์หุ้นวันอาทิตย์ พอเราทำเป็นกิจวัตร เราจะเคยชินและใช้ willpower ในการทำน้อยลง เราจะไปถึงเป้าหมายได้ดีมากขึ้น
5.2 สถานที่
คล้ายกับการผูกแผนการกับเวลา แต่เราก็ผูกกับสถานที่เพิ่มขึ้นได้ด้วย เช่น อ่านหนังสือบนโต๊ะตัวเดิม อ่านบทวิเคราะห์จากคอมตัวเดิม พอเราทำอะไรเป็นกิจวัตรหรือความคุ้นเคย เราก็จะใช้ willpower ในการทำลดลง อย่างผมจะใช้คอม PC ที่ทำงานในออฟฟิศอ่านบทวิเคราะห์ตอนเช้าทุกวัน พอเปิดคอม เราก็เปิดหน้าบทวิเคราะห์มาโดยอัตโนมัติ สุดท้าย เราก็ไม่ได้ใช้ความพยายามมากมายในการศึกษาหาความรู้เท่ากับตอนเริ่มต้น
5.3 อารมณ์
ฝึกอารมณ์ตัวเองให้ชัดเจนและพยายามเข้าใจอารมณ์ตัวเองมากขึ้น เช่น หากอยากเลิกอ่านหนังสือ คือไม่ใช่วางหนังสือแล้วจบเลย แต่ต้องพยายามฝึกถามตัวเองว่าเรารู้สึกแบบนี้เพราะอะไร นี่คือความรู้สึกแบบไหน เราจะจัดการกับมันได้อย่างไรบ้าง
5.4 คนรอบตัว
สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเดินทางในถนนการลงทุนมาก พยายามพาตัวเองไปอยู่ในกลุ่มคนที่ชอบการลงทุน สนใจการลงทุน เช่น มีเพื่อนในเฟสที่ชอบหุ้นเยอะๆ ไปเรียนหุ้นสัมมนาหุ้นหาเพื่อนเล่นหุ้น ตั้งกรุ๊ปไลน์เพื่อนนักลงทุนที่สนิทเพื่อคุยหุ้นทุกวัน พอเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ผูกเรากับเป้าหมายตลอด เราก็จะหลุดยาก เพราะเหมือนถูกกระตุ้นเตือนอยู่ตลอดเวลา
จบแล้วกับ 5 ขั้นตอนในการไปสู่ความสำเร็จในการลงทุน
ขอเสริมอีกนิดว่าโดยส่วนตัวมองว่าแพชชัน (passion) เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการไปให้ถึงเป้าหมาย คือเราต้องเชื่อก่อนว่าเราทำได้ เราต้องเห็นภาพก่อนว่าตัวเองจะประสบความสำเร็จ ยิ่งเราเชื่อมั่นมากเท่าไหร่ เราจะไม่ท้อไม่กังขากับเส้นทางที่เราเลือกเดิน
สุดท้าย เราก็จะประสบความสำเร็จอย่างที่เราคิดจริงๆ
Whether you think you can, or you think you can’t – you’re right. Said Henry Ford
“ไม่ว่าคุณจะคิดว่า คุณทำได้ หรือคิดว่า คุณทำไม่ได้ คุณก็คิดถูกทั้งนั้น” – เฮนรี ฟอร์ด (ผู้ก่อตั้งบริษัท ฟอร์ดมอเตอร์)
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :