การลงทุน

คู่แข่งขันไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกันเสมอไป ข้อคิดจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์

คู่แข่งขันไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกันเสมอไป ข้อคิดจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์

คู่แข่งขันไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกันเสมอไป ข้อคิดจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์

 

เมื่อกล่าวถึง วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีนักลงทุนชาวอเมริกัน ผู้คนล้วนรู้จักประวัติความเป็นมาของชายผู้ยิ่งใหญ่คนนี้โดยแทบจะไม่ต้องเล่าซ้ำ แนวความคิดของเขาได้นำพาผู้คนไปสู่การลงทุนในตลาดหุ้นให้ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย อย่างไรก็ตาม นอกจากความยิ่งใหญ่และความสำเร็จของเขาที่กล่าวมานี้ บัฟเฟตต์ ยังเป็นหนึ่งในนักลงทุนขาวอเมริกันที่เปิดเผยถึงทัศนคติอันดีที่มีต่อจีน แม้ว่าสหรัฐอเมริกาและจีนจะเป็นคู่แข่งทางการค้า และเป็นสองประเทศมหาอำนาจที่แข่งขันกันอย่างสูง [1]

 

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ให้ความสำคัญต่อการแข่งขันอย่างมีขอบเขตเป็นอย่างมาก เขาได้ให้สัมภาษณ์ไว้ดังที่เผยแพร่ในช่อง YouTube ของ Yahoo Finance [2] ว่า ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาล้วนเป็นมหาอำนาจที่แข่งขันกันสูงมากในทุกด้าน อำนาจที่ทั้งสองประเทศถือครองอยู่ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศแทบไม่มีทางเป็นอื่นได้เลยนอกเสียจากการเป็นคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นคู่แข่ง แต่การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจไม่ควรเลยเถิดไปจนถึงขั้นที่ไร้การควบคุม ก่อความเดือดร้อนให้แก่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก

 

ในความคิดของบัฟเฟตต์ คู่แข่งขันกันไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกัน เขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศมหาอำนาจทั้งหลายในโลกจะตระหนักถึงข้อเท็จจริงข้อนี้ แม้การแข่งขันจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ประเทศมหาอำนาจสามารถประเมินความเสียหายที่ตนเองอาจก่อให้เกิดขึ้นได้ เช่นรัสเซียที่ถือครองนิวเคลียร์อยู่จำนวนมาก หรือสหรัฐอเมริกาที่ไม่ควรนำชุดความคิดที่ตนเองเชื่อถือไปตีกรอบชาติที่มีวิถีปฏิบัติต่างจากตน เช่น จีน หรือรัสเซีย

 

บัฟเฟตต์ เชื่อว่าโลกที่สงบสุขไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่ใครชาติใดชาติหนึ่งเป็นฝ่ายชนะและกอบโกยผลประโยชน์ไว้ทั้งหมดเพียงฝ่ายเดียว นอกจากนี้ เขายังเปิดกว้างสำหรับการลงทุนในต่างประเทศ แม้การลงทุนในสหรัฐอเมริกาเพียงอย่างเดียวจะดูปลอดภัย ไม่ต้องศึกษากฎระเบียบเพิ่มเติมมากนัก แต่เขาก็ยังเลือกลงทุนในประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นจีนหรืออิสราเอล แม้จะต้องทำความเข้าใจทั้งผู้คน วัฒนธรรม และกฎหมายเพื่อเริ่มลงทุน แต่เขาก็เชื่อว่าประเทศอื่น ๆ ก็มีศักยภาพในการพัฒนาและน่าลงทุนไม่ต่างจากสหรัฐอเมริกา

 

บัฟเฟตต์ ประเมินการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนไว้ว่า แม้จะมีคำทำนายว่าจีนจะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นอันดับหนึ่งแซงหน้าสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ. 2032 แต่เขายังเชื่อว่าการเติบโตของจีนอาจช้ากว่านั้น แต่ทั้งนี้ เขาเชื่อว่าจีนมีศักยภาพที่จะพัฒนาจนเอาชนะสหรัฐอเมริกาได้ ทั้งจากจำนวนประชากรที่มากกว่าและกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง [3]

 

อาจกล่าวได้ว่า การมองคู่แข่งด้วยสายตาที่เป็นกลาง ยอมรับนับถือความสามารถของคู่แข่งโดยไม่ยัดเยียดให้อีกฝ่ายเป็นศัตรูนี้เอง ที่ทำให้วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นสุดยอดนักลงทุนที่ประเมินสถานการณ์การลงทุนได้เฉียบขาดเสมอมา

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อ้างอิง

[1] Yahoo Finance. (May 1, 2017). Why Chinese investors love Warren Buffett. Retrieved from http://finance.yahoo.com/news/chinese-investors-love-warren-buffett-152014614.html
[2] Yahoo Finance. (May 4, 2019). Buffett on China: ‘You can be competitors without being enemies’. Retrieved from https://m.youtube.com/watch?v=7BL58_hpTAc&feature=youtu.be
[3] Yahoo Finance. (April 30, 2018). Warren Buffett: China has ‘found a secret sauce for themselves’. Retrieved from https://finance.yahoo.com/news/warren-buffett-china-found-secret-sauce-183809314.html

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน