PBV หรือ มูลค่ากิจการตามราคาตลาดต่อมูลค่ากิจการทางบัญชี (price per booked value ratio; PBV) เป็นตัวเลขที่แสดงถึงมูลค่าความถูกแพงของกิจการ โดย PBV จัดเป็นการประเมินมูลค่าแบบสัมพัทธ์ (relative valuation) หมายถึงตัวเลขที่ได้เป็นตัวเลขเชิงเปรียบเทียบ อัตราส่วนนี้สามารถใช้เปรียบเทียบคร่าวๆ กับหุ้นตัวอื่นว่าหุ้นตัวใดถูกกว่ากัน
สูตรการประเมินมูลค่าหุ้นด้วยมูลค่ากิจการตามราคาตลาดต่อมูลค่ากิจการทางบัญชี
Price per Booked Value ratio = Market Capitalization/Booked Value = Price Per Share/Booked Value Per Share
ยกตัวอย่างเช่น หุ้น PUNN มีหุ้นจดทะเบียนที่ชำระแล้วจำนวนทั้งหมด 200,000,000 หุ้น ราคาหุ้นปัจจุบันอยู่ที่ 8 บาท มูลค่ากิจการทางบัญชีเท่ากับ 16,000,000 บาท
คำนวณประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธีพีบีวี
คำนวณ Market Capitalization = หุ้นจดทะเบียนที่ชำระแล้ว x ราคาหุ้น = 200,000,000 x 8 = 1,600,000,000 บาท
คำนวณ BVPS (Booked Value Per Share) = มูลค่ากิจการทางบัญชี/หุ้นจดทะเบียนที่ชำระแล้ว = 16,000,000/200,000,000 = 0.08 บาทต่อหุ้น
Price per Booked Value ratio = 1,600,000,000/16,000,000 = 8/0.08 = 100 เท่า
ตัวเลขของ PBV ที่ได้มาจะนำมาใช้เชิงเปรียบเทียบ เช่น พีบีวี 10 เท่า แพงกว่าพีบีวี 2 เท่า แต่ถูกกว่าพีบีวี 15 เท่า แต่ตัวเลขพีบีวีที่เหมาะสมจะเป็นเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
โดยทั่วไปควรมีค่าต่ำกว่า 1
การประเมินมูลค่าด้วยพีบีวีจะเหมาะกับการลงทุนที่มุ่งเน้นไปที่สินทรัพย์ที่แฝงอยู่ของกิจการ ดังนั้น นักลงทุนต้องสนใจไปที่สินทรัพย์และมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์เป็นหลัก สังเกตว่าพีบีวีไม่ได้มุ่งเน้นไปที่กำไรเลย ดังนั้นหากธุรกิจมีความสามารถในการทำกำไรสูงมาก ค่าพีบีวีอาจมีค่านี้สูงผิดปรกติ เพราะตลาดมักตัดสินมูลค่าจากการทำกำไรเป็นหลัก
มูลค่ากิจการทางบัญชี คำนวณจากสินทรัพย์หักออกด้วยหนี้สิน
ยกตัวอย่างเช่น หุ้น PUNN มีสินทรัพย์รวม 100 ล้านบาท หนี้สิน 20 ล้านบาท กรณีนี้จะคำนวณมูลค่ากิจการทางบัญชีได้ 80 ล้านบาท
การเลือกใช้พีบีวีควรเลือกในกรณีที่กิจการมีสินทรัพย์ที่รอการปลดปล่อยเป็นหลัก
หุ้นกลุ่มที่เหมาะกับพีบีวี ได้แก่ หุ้นที่มีสินทรัพย์เพื่อจำหน่ายเป็นหลัก เช่น หุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม หุ้นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อจำหน่าย หรือหุ้นที่มีสินทรัพย์ที่รอการปลดปล่อย เช่น หุ้นที่กำลังจะขายสินทรัพย์เข้ากองรีท หุ้นที่มีสินทรัพย์แฝงไว้และกำไรจะขายออกไปเพื่อรับรู้ รวมไปถึงหุ้นกลุ่มการเงินต่างๆ ที่เลือกใช้มาตรฐานทางบัญชีอย่างรัดกุมและอนุรักษ์นิยม
ยกตัวอย่างหุ้น TCAP ปี 2557
ข้อมูลพื้นฐาน มูลค่ากิจการทางบัญชีประมาณ 50,000 ล้านบาท มูลค่ากิจการตามราคาตลาดประมาณ 40,000 ล้านบาท
คำนวณพีบีวี = มูลค่ากิจการตามราคาตลาด/มูลค่ากิจการทางบัญชี = 40,000/50,000 = 0.8 เท่า
ดังนั้น หากเราตั้งสมมติฐานว่าการลงบัญชีของหุ้น TCAP เป็นไปอย่างถูกต้องและอนุรักษ์นิยม เราอาจจะให้ค่าพีบีวีเป้าหมายอยู่ที่ 1 เท่า หรือซื้อกิจการได้ที่มูลค่ากิจการทางบัญชีพอดี กิจการนี้ควรจะซื้อขายที่มูลค่ากิจการทางบัญชีหรือ 50,000 ล้าน หรือเทียบเท่าเป็นผลตอบแทนที่คาดหวังประมาณ 25% หรือเทียบเท่ากับมูลค่าพื้นฐานเท่ากับ 40.18 บาทต่อหุ้น ในขณะที่ราคาตลาดปัจจุบันอยู่ที่ 31.75 บาทต่อหุ้น
***ตัวอย่างข้างต้นนี้เป็นการแสดงตัวอย่างในการคำนวณการประเมินมูลค่าเบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถใช้ในการแนะนำการซื้อถือขายได้ การคำนวณดังกล่าวใช้เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา และใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นในอดีตแล้วเท่านั้น***
วิธีการพีบีวีเหมาะกับกิจการที่มีสินทรัพย์ที่รอการปลดปล่อยเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินทรัพย์ที่ลงบัญชีไว้ที่ต้นทุนต่ำกว่ามูลค่าปัจจุบันมาก หากจะประเมินมูลค่าจำเป็นต้องปรับมูลค่าสินทรัพย์เป็นปัจจุบันเพื่อคาดการณ์ว่าค่าพีบีวีหลังจากปลดปล่อยมูลค่าแล้วจะเป็นเท่าไหร่ เพื่อจะประเมินมูลค่าพื้นฐานได้อย่างถูกต้อง
รวมบทความชุดสอนมือใหม่ประเมินมูลค่าหุ้น
2 Price per Booked Value ratio
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :